คนไทยบริโภคกระชายเป็นอาหารและในเชิงสมุนไพรรักษาโรคมาช้านานแล้ว กระชายได้รับความสนใจในแง่ของการป้องกันและรักษาการติดเชื้อโควิด 19 เพราะมีงานวิจัยของทางคณะวิทยาศาสตร์ และคณะแพทยศาสตร์รามาธิบดีมหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) โดย การทดลองในหลอดทดลองพบว่า สารสกัดจากกระชายขาวสามารถลดอัตราการติดเชื้อในเนื้อเยื่อทางเดินหายใจที่จำลองมาจากเนื้อเยื่อของมนุษย์อย่างได้ผล ซึ่งคาดว่าเป็นผลจากสารสำคัญในกระชายขาว คือ Panduratin A ทั้งนี้ผลจากการทดลองนี้ ยังคงเป็นการทดลองในหลอดทดลองเท่านั้น ซึ่งผลจากการวิจัยในสิ่งมีชีวิตจริงยังมีข้อมูลจำกัด
การทานพืชสมุนไพร เพื่อป้องกันหรือลดโอกาสการติดเชื้อไวรัส COVID-19 สายพันธุ์ต่าง ๆ นั้นยังไม่มีงานวิจัยและหลักฐานทางวิทยาศาสตร์รองรับ ดังนั้นควรเลือกรับประทานสมุนไพรพื้นบ้านเหล่านี้อย่างระมัดระวัง การบริโภคกระชายโดยทั่วไป เช่น ทำอาหาร หรือดื่มน้ำกระชายในปริมาณที่เหมาะสมและไม่บริโภคต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลายาวนานยังคงมีความปลอดภัย ทั้งนี้ระยะเวลาที่รับประทานต่อเนื่องนั้นไม่มีระบุชัดเจน ในบางตำราแพทย์แผนไทยแนะนำว่าไม่ควรรับประทานต่อเนื่องเกิน 7 วัน เนื่องจากกระชายมีฤทธิ์ร้อน อาจส่งผลให้เกิดอาการร้อนใน เป็นแผลในปาก จากการศึกษาพบว่า การบริโภคกระชายมากๆ มีผลทำให้เกิดปัญหาเหงือกร่นและเกิดภาวะใจสั่นได้
ในกรณีต้องการรับประทานสารสกัดจากกระชายเข้มข้น หรือสารสกัดสมุนไพรอื่น ๆ เช่น ฟ้าทะลายโจร แนะนำให้ปรึกษาแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญก่อนทุกครั้ง โดยเฉพาะผู้ที่มีความผิดปกติของตับและไต หญิงตั้งครรภ์ และผู้ที่ใช้ยารักษาโรคประจำตัว เช่น ยาลดความดันโลหิตสูง ยาเบาหวาน เพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่อโรคประจำตัว และยาที่ทานอยู่เป็นประจำ เป็นการลดความเสี่ยงของผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อสุขภาพได้