ยืนยันตัวตนมาตรฐานใหม่ AIA eKYC

AIA eKYC

เอไอเอ ประเทศไทย ได้พัฒนาระบบ AIA eKYC หรือระบบยืนยันและพิสูจน์ตัวตนทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อยกระดับความปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคลและตอบสนองพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของลูกค้าในยุคดิจิทัล ด้วยเทคโนโลยีอ่านตัวอักษรด้วยแสง (Optical Character Recognition) และระบบเทคโนโลยีจดจำและเรียนรู้ใบหน้า (Biometric Facial Recognition) เพื่อใช้ในการสแกนอ่านบัตรประจำตัวประชาชน เอกสารทางราชการ ตลอดจนใบหน้าของลูกค้า เพื่อให้ลูกค้าสามารถทำธุรกรรมได้ด้วยตนเองอย่างสะดวกสบาย ลดความยุ่งยากในการกรอกข้อมูล ทำได้ทุกที่ทุกเวลา และไม่ต้องเดินทางไปแสดงตัวตนด้วยตนเองต่อหน้าเจ้าหน้าที่ของสถาบันการเงิน (Face-to-Face)

ขั้นตอนการยืนยันตัวตนผ่าน AIA eKYC

ช่องทางการยืนยันตัวตน

1) ผ่านตัวแทนประกันชีวิตของเอไอเอ ด้วยระบบ iPoS+

2) ผ่านช่องทางการขายพันธมิตรของเอไอเอ ที่รองรับระบบ AIA eKYC

3) ผ่านลิงก์จาก SMS และ Email ของเอไอเอ

การยืนยันตัวตนทางอิเล็กทรอนิกส์ eKYC

คำว่า eKYC ย่อมาจากคำว่า Electronic Know Your Customer หมายถึง กระบวนการในการทำความรู้จักลูกค้าผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่สามารถระบุตัวตน (Identification) และพิสูจน์ตัวตน (Verification) ด้วยเทคโนโลยี แทนกระบวนการ Know You Customer (KYC) หรือ การทำความรู้จักลูกค้าในรูปแบบเดิมที่มีความยุ่งยาก เสียเวลา เพราะลูกค้าต้องกรอกข้อมูล ส่งเอกสารระบุตัวตน และต้องเดินทางไปแสดงตัวตนด้วยตนเองต่อหน้าเจ้าหน้าที่ของสถาบันการเงิน (Face-to-Face)

เนื่องจากพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 กำหนดให้ สถาบันการเงินมีหน้าที่ในการตรวจสอบเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้า โดยต้องตรวจสอบเป็นระยะจนสิ้นสุดดำเนินการเมื่อยุติความสัมพันธ์กับลูกค้า (หรือที่เรียกว่า การทำความรู้จักลูกค้า KYC) ซึ่งเอไอเอ ในฐานะสถาบันการเงิน จึงมีหน้าที่ในการดำเนินการตรวจสอบข้อมูลต่างๆ ของลูกค้าก่อนทำธุรกรรม และปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบันและสม่ำเสมอ เพื่อเป็นการรู้จักตัวตนของลูกค้าได้อย่างถูกต้อง ป้องกันการโจรกรรมหรือแอบอ้างตัวตน สร้างความปลอดภัยต่อเจ้าของข้อมูลด้วยระบบการปกป้องข้อมูลที่มีมาตรฐาน และมีความปลอดภัยตามนโยบายของ เอไอเอ

ใครที่ต้องทำ AIA eKYC บ้าง

1) ผู้ขอเอาประกันภัยที่บรรลุนิติภาวะ หรือมีอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ ยกเว้นการซื้อสัญญาเพิ่มเติม และประกันภัยกลุ่ม

2) ผู้ชำระเบี้ยประกันภัย (บุคคลธรรมดา) ให้กับผู้ขอเอาประกันภัยที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ

3) ผู้รับผลประโยชน์จากกรมธรรม์ (บุคคลธรรมดา) ในเวลาที่ได้รับเงิน หรือผลประโยชน์อื่นตามกรมธรรม์ประกันชีวิต

ประโยชน์จากการทำ eKYC

1) เพื่อป้องกันการโจรกรรมข้อมูลส่วนตัว หรือแอบอ้างตัวตนของลูกค้า รวมถึงความปลอดภัยเพิ่มเติมจาก ระบบเทคโนโลยีจดจำและเรียนรู้ใบหน้า (Biometric Facial Recognition)

2) เพิ่มความสะดวกสบาย และลดขั้นตอนการกรอกข้อมูล

3) สามารถดำเนินการบนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ของลูกค้าได้ทุกที่ ทุกเวลา ที่สามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้ แทนการยืนยันตัวตนรูปแบบเดิมที่เป็นแบบพบหน้า (Face-to-Face)

1. เอไอเอเก็บข้อมูลยืนยันตัวตนของลูกค้าอย่างไร มีความปลอดภัยแค่ไหน

เอไอเอเลือกใช้เทคโนโลยีการสแกนเอกสาร และสแกนใบหน้าที่มีมาตรฐานและความปลอดภัยระดับสากล โดยที่ข้อมูลยืนยันตัวตนของลูกค้าจะถูกจัดเก็บไว้ในฐานข้อมูลของเอไอเอ โดยมีการเข้ารหัสและจำกัดสิทธิการเข้าถึง ไม่มีการส่งข้อมูลส่วนตัวรวมถึงภาพใบหน้าของลูกค้าออกไปสู่ระบบภายนอก ลูกค้าสามารถมั่นใจได้ว่าข้อมูลส่วนตัวของลูกค้าได้รับการดูแลรักษาตามมาตรฐานความปลอดภัยของเอไอเอ

2. ข้อมูลยืนยันตัวตนของลูกค้าจะถูกนำไปใช้อย่างไร เพื่อวัตถุประสงค์ใด

ข้อมูลของลูกค้าจะถูกนำมาใช้เพื่อการยืนยันตัวตนเท่านั้น โดยข้อมูลบัตรประจำตัวประชาชนจะถูกนำไปตรวจสอบกับฐานข้อมูลของกรมการปกครอง (DOPA) หรือสอบทานกับหลักฐานอื่นๆ เพื่อยืนยันความถูกต้องและความเป็นปัจจุบันของข้อมูล โดยเอไอเอมีการจำกัดสิทธิให้เฉพาะเจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจในการตรวจสอบยืนยันตัวตน สามารถเข้าถึงข้อมูลได้เท่านั้น

3. ในกรณีที่การยืนยันตัวตนไม่ผ่าน จะต้องดำเนินการอย่างไร

กรณีที่ลูกค้าไม่สามารถเข้าถึงระบบ AIA eKYC ให้ลูกค้ารอ 5-10 นาทีเพื่อทดลองใหม่อีกครั้งหลังจากที่ระบบกลับมาออนไลน์

กรณีที่ระบบไม่สามารถเชื่อมต่อกับระบบฐานข้อมูลของกรมการปกครอง (DOPA) โดยแสดงข้อความว่า “การเชื่อมต่อฐานข้อมูลกรมการปกครองล้มเหลว” ให้ลูกค้ารอ 5-10 นาทีเพื่อทดลองใหม่อีกครั้งหลังจากที่ระบบกลับมาออนไลน์ หรือให้ลูกค้าเลือกยืนยันตัวตนด้วย “เอกสารอื่นๆ” โดยวิธีการยืนยันตัวตนดังกล่าวลูกค้าจะต้องทำการสแกนเอกสารทางราชการอื่นๆ (เช่น หนังสือเดินทาง ใบขับขี่ ทะเบียนบ้าน เป็นต้น) เป็นเอกสารที่ 2 เพื่อให้เจ้าหน้าที่ของเอไอเอ พิจารณาสอบทานกับสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนหรือบัตรประจำตัวอื่นๆ

กรณีที่ลูกค้าไม่สามารถยืนยันตัวตนได้สำเร็จ โดยที่ระบบแสดงข้อความว่า “การยืนยันข้อมูลบัตรประจำตัวประชาชนของท่านกับฐานข้อมูลกรมการปกครองล้มเหลว” ให้ลูกค้าตรวจสอบข้อมูลบัตรประจำตัวประชาชนและทดลองใหม่อีกครั้ง หรือเลือกยืนยันตัวตนด้วย “เอกสารอื่นๆ” โดยวิธีการยืนยันตัวตนดังกล่าวลูกค้าจะต้องทำการสแกนเอกสารทางราชการอื่นๆ (เช่น หนังสือเดินทาง ใบขับขี่ ทะเบียนบ้าน เป็นต้น) เป็นเอกสารที่ 2 เพื่อให้เจ้าหน้าที่ของเอไอเอ พิจารณาสอบทานกับสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนหรือบัตรประจำตัวอื่นๆ