โภชนาการ
ไขข้อเท็จจริงด้านโภชนาการ ระหว่าง "ความเชื่อ" กับ "ความจริง"

บริโภคไข่ทำให้ระดับคอเลสเตอรอลในเลือดสูง

ความจริง: ไข่คือแหล่งโปรตีนชั้นดี มีไขมันอิ่มตัวต่ำ ไม่มีไขมันทรานส์ (ไขมันเลว) และมีคอเลสเตอรอลเพียงเล็กน้อย จึงไม่ต้องกังวลว่าจะทำให้ระดับคอเลสเตอรอลในเลือดสูง เพราะปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อระดับคอเลสเตอรอลคือการบริโภคอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวและไขมันทรานส์สูง โดยมักพบในอาหารประเภททอด เนื้อสัตว์ติดมัน และผลิตภัณฑ์เบเกอรี่  หากต้องการควบคุมระดับคอเลสเตอรอล นอกจากหลีกเลี่ยงอาหารที่กล่าวมาข้างต้น ก็ควรหลีกเลี่ยงการทอด เพราะส่งผลให้ระดับคอเลสเตอรอลสูงได้

 

อะโวคาโดเป็นซูเปอร์ฟู้ดที่รับประทานได้ทุกวัน

ความจริง: แม้ว่าอะโวคาโดอุดมไปด้วยแร่ธาตุและวิตามินมากถึง 20 ชนิด รวมถึงมีไฟเบอร์สูง แต่ก็มีแคลอรีและไขมันสูงแม้ว่าเป็นไขมันดีก็ตาม โดยอะโวคาโด 1 ผลกลาง ให้พลังงาน 240 แคลอรี และไขมันถึง 24 กรัม จึงไม่ควรรับประทานในปริมาณที่มากเกินไป ซึ่งปริมาณไขมันที่แนะนำให้บริโภคต่อวันอยู่ที่ 44 - 77 กรัม

 

อาหารปลอดกลูเตน (Gluten Free) ดีต่อสุขภาพ

ความจริง: Gluten เป็นโปรตีนที่พบในธัญพืชจำพวกข้าวสาลี ข้าวไรย์ ข้าวบาร์เรย์ และอุดมไปด้วยโปรตีน จึงไม่ส่งผลต่อสุขภาพหรือเป็นอันตรายสำหรับคนทั่วไป แต่สาเหตุที่อาหารปลอดกลูเตน (Gluten Free) ได้รับความนิยม เป็นเพราะในต่างประเทศมีประชากรแพ้กลูเตนจำนวนมาก ซึ่งในคนไทยนั้นพบว่ามีผู้แพ้กลูเตนในปริมาณน้อย เนื่องจากบริโภคข้าวเป็นหลัก จึงไม่มีความจำเป็นต้องรับประทาน Gluten Free แต่อย่างใด

 

ควรเลี่ยงกะทิ เพราะมีไขมันและคอเลสเตอรอลสูง

ความจริง: กะทิมีกรดไขมันอิ่มตัวสายกลาง (Medium Chain Triglyceride) ซึ่งเป็นกรดไขมันที่ดีต่อสุขภาพ อีกทั้งยังอุดมไปด้วยวิตามินซี วิตามินอี วิตามินบี 1 วิตามินบี 3 วิตามินบี 5 วิตามินบี 6 รวมถึงแร่ธาตุต่าง ๆ อาทิ ธาตุเหล็ก ซีลีเนียม โซเดียม แคลเซียม แมกนีเซียม และฟอสฟอรัส แต่ถ้าใครมีปัญหาไขมันไตรกลีเซอร์ไรด์สูง ไขมันพอกตับ หรือมีภาวะอ้วนลงพุง ควรระมัดระวังในการบริโภค