สุขภาพใจ
ก้าวข้ามและเรียนรู้ไปกับลูกหลาน LGBTQIA

1. สื่อสารเชิงบวก ไม่ปฏิเสธความจริง
พยายามสื่อสารกับลูกหลานในเชิงบวก โดยไม่มองแต่ปัญหาหรือผลเสีย ไม่หลีกเลี่ยงสถานการณ์ หรือปฏิเสธว่าลูกหลานเป็นเพศทางเลือกกะเทย[K1] หรือคนข้ามเพศ เพราะอาจส่งผลเสียต่อความมั่นใจและความรู้สึกปลอดภัยภายในบ้าน แต่หากยังไม่พร้อมที่จะยอมรับและสนับสนุนอาจใช้ความละมุนละม่อม อดทนในการขอเลื่อนการพูดคุยกับลูกหลานออกไปพร้อมให้เหตุผลประกอบ

2. หลีกเลี่ยงการเปรียบเทียบลูกหลานกับคนอื่น
การเปรียบเทียบลูกหลานกับเด็กคนอื่น ๆ อาจสร้างความกดดัน ทำให้ลูกหลานรู้สึกว่าตนเองไม่ดีพอ และไม่อยากเปิดใจคุยกับพ่อแม่ การส่งเสริมให้ลูกหลานรู้สึกมีคุณค่าในตัวเองจึงเป็นสิ่งสำคัญ

4. ใช้คนกลางเป็นตัวช่วยสื่อสาร
บางครั้งการพูดคุยกันโดยตรงอาจทำให้เกิดอารมณ์ที่ยากควบคุม การมีคนกลางที่เป็นคนที่ยอมรับในตัวตนของลูกหลาน เช่น ญาติ หรือพี่น้องที่เข้าใจและยอมรับ อาจช่วยทำให้การสื่อสารราบรื่นขึ้น ผ่านแลกเปลี่ยนประสบการณ์และแนวคิดในมุมมองที่เปิดกว้างมากยิ่งขึ้น

5. ให้ความละเอียดอ่อนกับเรื่องเพศ
เรื่องเพศเป็นเรื่องที่ต้องใส่ใจ ไม่ว่าจะเป็นเพศใดก็ตาม ไม่ใช่เฉพาะกลุ่ม LGBTQIA เท่านั้น ควรจินตนาการว่าหากเราเป็นลูกหลาน เราอยากให้คนรอบตัวปฏิบัติกับเราอย่างไร นี่คือการให้เกียรติและเคารพในตัวตนของทุกคน

6. สนับสนุนความสนใจและความสามารถของลูกหลาน
ชื่นชมสิ่งที่ลูกหลานทำได้ดี และให้กำลังใจในสิ่งที่เขาชอบหรือทำได้ดี แต่ไม่ชมจนเกินจริง เพราะอาจทำให้เขารู้สึกถูกคาดหวังมากเกินไป ควรสนับสนุนในสิ่งที่เขามีความถนัดอย่างเหมาะสม

7. ใช้คำถามปลายเปิด
การถามไถ่สารทุกข์สุกดิบในชีวิตประจำวันด้วยคำถามปลายเปิด เช่น "ช่วงนี้เป็นยังไงบ้าง" หรือ "มีอะไรที่อยากแชร์ไหม" และเลี่ยงคำถามปลายปิด จะช่วยให้ลูกหลานรู้สึกสบายใจที่จะพูดมากกว่าการใช้คำถามที่คาดคั้น เช่น ทำไมเพราะอะไร, ทำไมถึงคิดอย่างนี้, ทำไมถึงทำอย่างนั้น ในการพูดคุยอาจมีมากกว่าหนึ่งครั้ง เพราะการยอมรับและเข้าใจต้องอาศัยเวลา จึงไม่ควรรีบร้อนหาข้อสรุป ควรให้เวลาแต่ต้องมีเป้าหมายชัดเจน คือ การพูดคุยเพื่อการยอมรับซึ่งกันและกัน

8. ให้โอกาสในการเรียนรู้
การเรียนรู้ของลูกหลานอาจต้องอาศัยเวลา อย่ารีบเร่งหาข้อสรุปหรือกดดันให้พวกเขาเปลี่ยนแปลง ควรเปิดโอกาสให้พวกเขาเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ด้วยตัวเอง โดยครอบครัวคอยอยู่ห่าง ๆ ให้การช่วยเหลือเมื่อจำเป็น ให้บ้านเป็นสถานที่ในการพักผ่อน และเป็นที่พึ่งพิงทางใจสำหรับลูกหลาน หาเวลาในการใคร่ครวญ ถามตอบความรู้สึกของตนเองเป็นระยะว่าพร้อมหรือไม่ที่จะค้นหาคำตอบและก้าวข้ามไปพร้อมกับลูกหลาน รวมถึงการถามตนเองว่าการยอมรับนั้นจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง หรือเกิดประโยชน์อะไรขึ้นบ้างกับลูกหลานและครอบครัวของเรา

แนวปฏิบัติทั้งหมดนี้เป็นเพียงแนวทางในเบื้องต้นเท่านั้น การเปิดใจรับฟังและเคารพในตัวตนของลูกหลาน LGBTQIA นั้นไม่เพียงแต่จะช่วยเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัว แต่ยังช่วยให้ลูกหลานเติบโตอย่างมั่นคงและเป็นตัวของตัวเองได้อย่างเต็มที่

ขอบคุณข้อมูล สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)