ทำไมการซื้อประกันถึงลดหย่อนภาษีได้?
หลายคนอาจมีข้อสงสัยว่าการซื้อประกันจะช่วยให้เราเสียภาษีน้อยลงได้ยังไง คำตอบคือเนื่องจากรัฐบาลต้องการส่งเสริมให้ประชาชนทำประกันชีวิตและประกันสุขภาพและอยากให้เห็นความสำคัญของการทำประกัน เพราะทุกครั้งที่ประชากรประเทศไทยมีการเจ็บป่วยหรือเสียชีวิต เท่ากับว่าระบบเศรษฐกิจอาจได้รับผลกระทบตามไปด้วย เพื่อที่จะลดความเสียหายในส่วนนี้ลง รัฐบาลจึงอนุญาตให้สามารถนำค่าใช้จ่ายจากการซื้อประกันบางประเภทมาลดหย่อนภาษีได้ เพราะการซื้อประกันคือการสร้างความมั่นคงอย่างหนึ่ง โดยเป็นการวางแผนชีวิต และวางแผนการเงินไว้ล่วงหน้าเผื่ออนาคต และเหตุไม่คาดฝัน นอกจากนี้ยังถือถือเป็นการช่วยลดภาระของภาครัฐไปได้อีกไม่น้อยด้วยนั่นเอง
ประกันชนิดไหนลดหย่อนภาษีได้บ้าง?
ปัจจุบันกฎหมายอนุญาตให้ประกัน 4 ประเภท ได้แก่ ประกันชีวิตทั่วไป ประกันชีวิตแบบบำนาญ ประกันสุขภาพตนเอง และประกันสุขภาพของพ่อแม่ สามารถนำเบี้ยประกันภัยไปลดหย่อนภาษีได้
1. ประกันชีวิตแบบทั่วไป
ประกันประเภทนี้จะให้ความคุ้มครองชีวิตแก่ผู้ที่ทำประกัน หมายถึงบริษัทประกันจะจ่ายเงินผลประโยชน์ตามเงื่อนไขที่ระบุในกรมธรรม์ให้แก่ผู้เอาประกันภัยเมื่อครบสัญญา หรือจ่ายให้ผู้รับประโยชน์ตามที่ระบุไว้ในกรมธรรม์เมื่อผู้เอาประกันภัยเสียชีวิต ซึ่งผู้รับประโยชน์อาจจะเป็นผู้ได้รับผลกระทบทางใดทางหนึ่งจากการจากไปของผู้เอาประกัน เช่น เป็นบุคคลในครอบครัว โดยประกันชีวิตทั่วไปที่สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ มีดังนี้
• ประกันชีวิตแบบตลอดชีพ (Whole Life) เน้นคุ้มครองชีวิตระยะยาว และจ่ายเบี้ยฯ เพียงช่วงระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น จุดเด่นคือเป็นประกันที่ไม่ต้องจ่ายเบี้ยฯ ทิ้ง หมายความว่าบริษัทประกันจะจ่ายเงินให้ผู้เอาประกันภัยในกรณีที่มีชีวิตอยู่ครบสัญญา หรือจ่ายเงินให้กับผู้รับประโยชน์ในกรณีผู้เอาประกันภัยเสียชีวิต
• ประกันชีวิตแบบชั่วระยะเวลา (Term) เน้นคุ้มครองชีวิตในระยะเวลาหนึ่ง ๆ และมีเบี้ยประกันภัยไม่สูง โดยบริษัทประกันจะจ่ายเงินให้กับผู้รับประโยชน์เมื่อผู้เอาประกันภัยเสียชีวิตเท่านั้น หากครบกำหนดแล้วผู้เอาประกันภัยยังมีชีวิตอยู่จะไม่ได้รับเงินคืน
• ประกันชีวิตเพื่อการสะสมทรัพย์ (Endowment) เป็นการออมเงินในรูปแบบประกัน คือนอกจากจะได้รับความคุ้มครองตามที่ระบุในกรมธรรม์ แล้วยังได้ออมเงินด้วย จุดเด่นคือจะได้มีเงินก้อนสำรองไว้ใช้ในอนาคต หรือมีเงินผลประโยชน์ส่งต่อให้คนที่รักหากเกิดเหตุไม่คาดฝัน
• ประกันชีวิตควบการลงทุน (Unit-Linked) เป็นการทำประกันชีวิตควบกับการลงทุนในกองทุนรวม โดยสามารถลดหย่อนภาษีได้ เฉพาะในส่วนของค่าเบี้ยประกันชีวิตเท่านั้น ส่วนเบี้ยฯ ที่นำไปลงทุนจะไม่สามารถนำมาลดหย่อนได้
เงื่อนไขของการนำเบี้ยประกันชีวิตแบบทั่วไปมาลดหย่อนภาษี คือ ประกันชีวิตจะต้องมีระยะเวลาคุ้มครองตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป และต้องทำกับบริษัทประกันชีวิตในประเทศไทยเท่านั้น หากมีการจ่ายเงินคืนรายปีระหว่างทาง เงินที่ได้รับคืนต้องไม่เกิน 20% ของเบี้ยรายปี และหากมีการจ่ายเงินคืนตามช่วงระยะเวลา (เช่น จ่ายคืนทุก 3 ปี) เงินที่ได้รับคืนต้องไม่เกิน 20% ของเบี้ยสะสมของแต่ละช่วงเวลา และหากทำประกันชีวิตตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 63 เป็นต้นไป ผู้มีเงินได้ต้องแจ้งความประสงค์ที่จะใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ต่อผู้รักประกันภัยที่ได้เอาประกันไว้
2. ประกันชีวิตแบบบำนาญ
หลัก ๆ แล้วประกันชีวิตแบบบำนาญจะเป็นการเก็บเงินไว้ใช้หลังจากเกษียณอายุจากการทำงาน โดยจะมีกำหนดให้จ่ายเบี้ยประกันต่อเนื่องไปจนกว่าจะเริ่มรับเงินบำนาญ (อย่างน้อยที่สุดคือจ่ายถึงอายุ 55 ปี) แล้วบริษัทประกันจะจ่ายเงินบำนาญให้ผู้เอาประกันเป็นรายปีไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะครบกำหนดสัญญา โดยเงื่อนไข หากทำประกันชีวิตตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 63 เป็นต้นไปผู้มีเงินได้ต้องแจ้งความประสงค์ที่จะใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ต่อผู้เอาประกันภัยที่ได้เอาประกันภัยไว้ และการนำประกันชีวิตแบบบำนาญมาลดหย่อนภาษีจะมีส่วนที่เหมือนกับประกันชีวิตทั่วไปคือ ต้องมีระยะเวลาคุ้มครองตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป และต้องทำกับบริษัทประกันชีวิตในประเทศไทยเท่านั้น นอกจากนั้นคือ กรมธรรม์ต้องจ่ายผลประโยชน์เป็นรายงวดแบบสม่ำเสมอ และกรมธรรม์ต้องกำหนดช่วงอายุการจ่ายผลประโยชน์ตั้งแต่อายุ 55-85 ปี หรือมากกว่านั้น
3. ประกันสุขภาพตนเอง ลดหย่อนได้สูงสุดไม่เกิน 25,000 บาทต่อปี
ประกันสุขภาพที่สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ มีดังนี้
- ประกันสุขภาพ คือประกันที่คุ้มครองค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลเมื่อเจ็บป่วย
- ประกันโรคร้ายแรง คือประกันที่คุ้มครองค่าใช้จ่ายเมื่อผู้ทำประกันเจ็บป่วยด้วยโรคร้ายแรง ผู้มีเงินได้ต้องแจ้งความประสงค์ที่จะใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ต่อผู้รับประกันภัยที่ได้เอาประกันไว้
4. ประกันสุขภาพของพ่อแม่ ลดหย่อนได้สูงสุด 15,0000 บาทต่อปี
เป็นประกันที่สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้เหมือนกับประกันสุขภาพตัวเอง เพียงแต่เป็นการซื้อให้พ่อแม่ของเราเองหรือพ่อแม่ของคู่สมรส โดยตัวเราหรือคู่สมรสต้องเป็นลูกแท้ ๆ ตามกฎหมายของพ่อแม่ จะเป็นลูกบุญธรรมไม่ได้ และทั้งพ่อแม่แต่ละคนมีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี [C1] และหากเราอยู่เมืองไทยไม่ถึง 180 วัน ให้ได้รับการยกเว้นภาษีได้เฉพาะการทำประกันสุขภาพพ่อแม่ที่อยู่ในประเทศไทยเท่านั้น โดยผู้มีเงินได้ต้องแจ้งความประสงค์ที่จะใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ต่อผู้รับประกันภัยที่ได้เอาประกันไว้