ดังนั้น เพื่อจัดการกับภาระการเงินเหล่านี้ เราสามารถคำนึงถึงแนวทาง 4 ประการคือ
1. บริหารและควบคุมค่าใช้จ่ายให้สอดคล้องกับรายได้และฐานะ
นั่นคือการมีวินัยในการใช้จ่าย ไม่ใช้จ่ายเกินตัว โดยอาจใช้วิธีทำงบการเงิน หรือทำบัญชีรายรับรายจ่าย เพื่อควบคุมการใช้จ่ายของตัวเองให้อยู่ในงบประมาณที่เหมาะสม เพื่อที่จะสามารถรับผิดชอบภาระค่าใช้จ่ายต่างๆ ได้อย่างไม่มีปัญหา
2. วางแผนเก็บออมเงินสำหรับเป็นเงินเกษียณของตัวเอง
ใช้เครื่องมือการออมหรือการลงทุนที่ช่วยสร้างวินัยการออม เช่น ประกันชีวิตแบบบำนาญ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และ RMF ที่มีเงื่อนไขบังคับให้เราต้องออมเงินหรือลงทุนในระยะยาว โดยต้องออมหรือลงทุนอย่างสม่ำเสมอทุกปี และไม่สามารถถอนเงินมาใช้ได้ระหว่างทางจนกว่าจะเกษียณ
3. วางแผนค่าใช้จ่ายของลูกให้ครอบคลุมจนสำเร็จการศึกษา
โดยการสำรวจค่าเล่าเรียน และค่าธรรมเนียมต่างๆ ของสถาบันการศึกษาที่วางแผนจะส่งบุตรไปเรียน ตั้งแต่ปัจจุบัน จนจบระดับชั้นที่ต้องการ ว่ารวมแล้วเป็นจำนวนทั้งหมดเท่าไหร่ โดยสำหรับค่าเล่าเรียนในชั้นสูงๆ ที่ยังมีเวลาอีกหลายปีกว่าจะถึงเวลาต้องจ่าย อาจจะใช้วิธีการลงทุน หรือออมเงินในรูปแบบต่างๆ เพื่อช่วยให้การเตรียมเงินให้เพียงพอกับค่าเล่าเรียนในอนาคตได้
4. วางแผนทำประกันชีวิต ประกันสุขภาพ และประกันอุบัติเหตุ เพื่อโอนย้ายความเสี่ยงอย่างเหมาะสม
เราควรทำประกันชีวิตให้มีความคุ้มครอง หรือจำนวนเงินเอาประกัน เพียงพอกับ “ภาระการเงิน” ในชีวิตทั้งหมดที่เรามีอยู่ ได้แก่ “ภาระหนี้สินคงค้าง (หนี้บ้าน + หนี้รถ + หนี้สินอื่นๆ) + ค่าเลี้ยงดูผู้อยู่ในอุปการะจนกว่าจะเลี้ยงดูตัวเองได้ (รวมไปถึงค่าเล่าเรียนและค่าประกันชีวิตบุตรตั้งแต่ปัจจุบันจนเรียนจบ) + เงินที่ต้องการทิ้งไว้ให้ธุรกิจปรับตัว (สำหรับผู้ที่เป็นเจ้าของธุรกิจ) - มูลค่าเงินเก็บทั้งหมดที่เรามีอยู่” เพื่อให้แน่ใจว่า หากเราจากไปกะทันหัน ผู้ที่เราดูแลอยู่ ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว หรือธุรกิจ จะสามารถดำเนินทั้งชีวิตและธุรกิจต่อไปได้โดยไม่เดือดร้อนนั่นเอง