สุขภาพจิต
เคล็ดลับเพื่อการนอนหลับที่มีคุณภาพมากขึ้น

ความสัมพันธ์กันของการนอนหลับกับสุขภาพจิตนั้นถือเป็นความสัมพันธ์แบบสองทาง (two-way relationship) การศึกษาวิจัยหลายชิ้นระบุว่าการนอนหลับที่ไม่มีคุณภาพหรือไม่เต็มอิ่มนั้นส่งผลเสียต่อสภาพจิตใจของเรา เมื่อใดที่คุณประสบปัญหาสุขภาพจิต การนอนของคุณก็มักจะมีปัญหาเช่นกัน เช่น ไม่สามารถข่มตานอน หรือตื่นกลางดึกบ่อยครั้ง ซึ่งการนอนที่ไม่มีคุณภาพเหล่านี้จะส่งผลให้สุขภาพจิตของคุณยิ่งแย่ลงไปอีก ไม่ว่าจะเป็นภาวะซึมเศร้า อารมณ์แปรปรวน วิตกกังวล หรือมีสมาธิสั้น

 

ผลกระทบของการนอนไม่พอ

คริสตีน โบรฟี่ รองประธานฝ่ายการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ไวทัลลิตี้ กรุ๊ป แนะนำว่าเราควร ”สร้างพฤติกรรมการนอนที่ถูกสุขลักษณะ” เพื่อส่งเสริมให้เรานอนอย่างมีคุณภาพ

 

“ความเครียด เป็นสาเหตุที่ทำให้คนจำนวนครึ่งหนึ่งไม่สามารถข่มตานอนลงได้ และ 1 ใน 3 ประสบกับภาวะนอนไม่หลับ การนอน 7 - 9 ชั่วโมงต่อคืนจะช่วยให้มีสุขภาพดี ซึ่งก็ไม่ง่ายที่เราจะนอนได้ตามนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่องานกลายเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เวลานอนของเราน้อยลง แน่นอนว่าการนอนไม่เพียงพอส่งผลกระทบต่อการกลไกทำงานของจิตใจ ทั้งทักษะการใช้เหตุผล และความสามารถในการตัดสินใจ” จนอาจทำให้เกิดข้อผิดพลาดหรือส่งผลต่อประสิทธิภาพในการทำงาน

นอกจากนี้ การนอนไม่พอยังทำให้ความสามารถทางด้านอารมณ์ของคุณลดลงเช่นกัน ลองนึกถึงครั้งล่าสุดที่คุณนอนหลับไม่เต็มอิ่ม คุณอาจรู้สึกอ่อนเพลีย หงุดหงิดง่าย หรือมีความกังวล ขาดสมาธิ และไม่สามารถจดจ่อกับสิ่งใดได้ดี นั่นหมายความว่าคุณได้สูญเสียวันที่ควรจะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพไป 1 วัน และความเครียดของคุณยิ่งเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้การรับมือกับเรื่องเล็ก ๆ ในชีวิตประจำวันเป็นเรื่องยาก ซึ่งอาจส่งผลกับความสัมพันธ์ส่วนตัวของคุณด้วย “การนอนหลับที่ดีถือว่าจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับคุณภาพชีวิตและสุขภาพจิตโดยรวม”

6 เคล็ดลับเพื่อการนอนหลับที่มีคุณภาพมากขึ้น
รู้หรือไม่ว่าพฤติกรรมการนอนของคนเรานั้นเปลี่ยนไปตามช่วงวัย ผู้ใหญ่ที่มีอายุถึง 60 ปีต้องการการนอนประมาณ 7 - 9 ชั่วโมง และจะลดลงเหลือประมาณ 7 - 8 ชั่วโมงสำหรับผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป และนี่คือเคล็ดลับเพื่อสุขลักษณะการนอนที่ดีที่ได้ผ่านการทดสอบมาแล้วว่าสามารถช่วยให้คุณนอนหลับได้ดี

  1. กำหนดเวลาเข้านอนและตื่นนอน ลองกำหนดเวลาเข้านอนและตื่นนอนให้เป็นเวลาเดียวกันทุกวัน และทำให้ได้เป็นประจำไม่เว้นแม้แต่ช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ การทำอะไรให้เป็นกิจวัตร จะช่วยปรับให้ร่างกายของเราเคยชินกับการนอนที่เป็นเวลา

  2. คลายเครียดก่อนเข้านอน พยายามผ่อนคลายในช่วงเย็นยิ่งช่วงที่ใกล้เวลานอน คุณอาจลองจุดเทียน อ่านหนังสือ หรือลองวิธีผ่อนคลายอื่น ๆ เช่น การฝึกการหายใจ และการยืดเส้นยืดสายเบา ๆ

  3. พยายามอย่าดื่มกาแฟในช่วงบ่ายของวัน หากคุณต้องการดื่มกาแฟ คุณควรดื่มในช่วงเช้า และงดคาเฟอีน รวมถึงเครื่องดื่มผสมแอลกอฮอล์ อย่างน้อย 4 ชั่วโมงก่อนเข้านอน และหากว่าร่างกายของคุณค่อนข้างไวกับสารกระตุ้นต่าง ๆ คุณควรหลีกเลี่ยงคาเฟอีนตั้งแต่ช่วงเที่ยงวันเป็นต้นไป

  4. งดใช้มือถือในช่วงกลางคืน ปรับไฟให้สลัว ๆ และเก็บโทรศัพท์หรืออุปกรณ์ทั้งหลาย เพื่อเตรียมร่างกายให้พร้อมสำหรับการนอน คุณอาจนำโทรศัพท์ไปชาร์จอีกห้องเพื่อหลีกเลี่ยงการใช้งานก่อนเข้านอน 

  5. การนอนหลับที่ดีเริ่มตั้งแต่ช่วงระหว่างวัน ฝึกนิสัยเพื่อสุขภาพที่ดี เช่น ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ให้ร่างกายได้รับแสงแดดธรรมชาติบ้างในระหว่างวันเพื่อช่วยควบคุมวงจรการหลับ-ตื่นของร่างกาย

  6. ใส่นาฬิกาติดตามพฤติกรรมการนอน นาฬิกาเพื่อสุขภาพที่เราสวมใส่ทุกวันนี้มีฟังก์ชันติดตามการนอน คุณสามารถสังเกตรูปแบบการนอนว่าเป็นอย่างไร และปรับพฤติกรรมเพื่อเสริมสร้างคุณภาพการนอนที่ดี

โบรฟี่กล่าวว่า “การฝึกนิสัยการนอนที่ดีสามารถช่วยแก้ไขปัญหาการนอนหลับยากและการนอนหลับยาวต่อเนื่อง แต่ในผู้ที่มีภาวะของโรคนอนไม่หลับ หรือมีภาวะการหยุดหายใจระหว่างหลับ คุณสามารถรับรักษาให้ดีขึ้นภายใต้การดูแลของแพทย์” ดังนั้น หากรูปแบบการนอนของคุณเปลี่ยนไปหรือคุณไม่สามารถนอนหลับได้ดีเหมือนเดิม คุณควรปรึกษาแพทย์เพื่อวินิจฉัยว่าสุขภาพทางกายหรือจิตใจของคุณเป็นต้นเหตุของปัญหา เพื่อรับการรักษาที่ถูกวิธีต่อไป

สมาชิกเอไอเอ ไวทัลลิตี้ทำแบบประเมินออนไลน์ ‘คุณนอนหลับดีแค่ไหน’ รับคะแนนไวทัลลิตี้สูงสุด 500 คะแนน/ปีสมาชิก และเพื่อตรวจสอบพฤติกรรมการนอนของคุณผ่านแอปพลิเคชัน AIA Vitality Thailand เพราะชีวิตที่ดีเริ่มจากสุขนิสัยที่ดี และนั่นหมายรวมถึงการการพักผ่อนที่เหมาะสม